ครูที่ดี ดูอย่างไร.. มาที่นี่ มีคู่มือพิสูจน์การเป็นครูดี มาฝาก
ปัจจุบันนี้ โลกของเราถือเป็นยุคของโลกไร้พรมแดน ที่ถูกครอบงำด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ทำให้ประเทศเกิดความเจริญ รุดหน้าอย่างรวดเร็วในทุกด้าน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา จากความทันสมัยนั้น ก็คือคนในสังคมขาดคุณธรรมจริยธรรม มีแต่ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม และด้วยการเปิดรับการไหลบ่า ของวัฒนธรรมต่างชาติที่เข้ามา ทางข้อมูลข่าวสาร ทำให้เด็กและเยาวชน มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เกิดการเลียนแบบวัฒนธรรมต่างชาติ โดยไม่มีการคัดกรองว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดี เนื่องจากไม่มีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ในเบื้องต้นให้แก่เด็ก
จากสภาพการณ์ดังกล่าว ครูู จึงถือว่ามีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญยิ่ง ในฐานะเป็นผู้ที่สั่งสอน หรือถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ รวมทั้งเป็นผู้ที่สร้างสรรค์ ภูมิปัญญา เพื่อให้เด็กและเยาวชน สามารถตระหนักได้ว่า ควรจะเลือกรับวัฒนธรรมต่างชาติที่ดี ที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม กับพฤติกรรมของตนเอง แต่ทั้งนี้ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น ครู จะต้องทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี และเหมาะสมให้แก่ลูกศิษย์ด้วยเช่นกัน ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเสนอบทบาทหน้าที่ของครู จรรยามรรยาท และวินัยตามระเบียบประเพณีของครู ว่าการเป็นครูที่ดีนั้นจะต้องทำอย่างไรบ้าง
หน้าที่ของครูอาจารย์ที่พึงมีต่อศิษย์
1. แนะนำดี คือ การให้คำแนะนำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ และสิ่งที่ดีๆ ให้แก่ ลูกศิษย์
2. ให้เรียนดี คือ การแนะนำส่งเสริม สนับสนุน ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ ลูกศิษย์ ให้มีผลการเรียนที่ดี
3. บอกศิลปะให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง โดยการถ่ายทอดวิชาความรู้ทั้งหมด ที่ตนเองมีอยู่ให้แก่ลูกศิษย์
4. ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง ให้การสนับสนุน และยกย่องลูกศิษย์ที่มีความประพฤติดี ให้ปรากฏแก่เด็กคนอื่นๆ เพื่อนำไปเป็นแบบอย่าง
5. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย ปกป้องและสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่ลูกศิษย์ จากสิ่งแวดล้อมและสิ่งยั่วยุที่ไม่ดีทั้งหลาย
จรรยามรรยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู
1. เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
2. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น
3. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์ และปฏิบัติหน้าที่ของตน ให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ พร้อมทั้งอุทิศเวลาของตนให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานมิได้
4. รักษาชื่อเสียงของตน มิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใดๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู
5. ถือปฏิบัติตามระเบียบ และแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมาย และระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา
6. ถ่ายทอดวิชาความรู้ โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตน ไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษยชาติ
7. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการ โดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน และไม่เบียดบังใช้แรงงาน หรือนำผลงานของผู้อื่นไป เพื่อประโยชน์ส่วนตน
8. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรม ไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ
9. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตน เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ของผู้ร่วมงาน และของสถานศึกษา
10. รักษาความสามัคคีระหว่างครู และช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน
จากสภาพการณ์ดังกล่าว ครูู จึงถือว่ามีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญยิ่ง ในฐานะเป็นผู้ที่สั่งสอน หรือถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ รวมทั้งเป็นผู้ที่สร้างสรรค์ ภูมิปัญญา เพื่อให้เด็กและเยาวชน สามารถตระหนักได้ว่า ควรจะเลือกรับวัฒนธรรมต่างชาติที่ดี ที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม กับพฤติกรรมของตนเอง แต่ทั้งนี้ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น ครู จะต้องทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี และเหมาะสมให้แก่ลูกศิษย์ด้วยเช่นกัน ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเสนอบทบาทหน้าที่ของครู จรรยามรรยาท และวินัยตามระเบียบประเพณีของครู ว่าการเป็นครูที่ดีนั้นจะต้องทำอย่างไรบ้าง