วันนี้ จะเล่าอีกประเด็นหนึ่งที่ได้มีการพูดคุยกัน ในการบรรยายเรื่อง "การปรับพฤติกรรมเด็กบนพื็นฐานการมีสติ" คือ ปัญหาของเด็กซน สมาธิสั้น เนื่องจาก อจ.ดร.วไลลักษณ์ พุ่มพวง ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญ เรื่องการปรับพฤติกรรมเด็กที่มีปัญหาเด็กซน สมาธิสั้น เด็กไฮเปอร์หรือปัญหาพฤติกรรมด้านอื่นๆ รวมทั้งเป็นวิทยากรที่อบรมพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูที่มีหน้าที่ในการดูแลกลุ่มเด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมเหล่านี้ จึงมีผู้ปกครอง จำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจในการสอบถามปัญหาในเรื่องนี้
ท่านวิทยากรเล่าว่า ปัญหาเรื่องเด็กซน สมาธิสั้น ถือว่าเป็นกลุ่มอาการเดียวกัน แต่มีความรุนแรงแตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
- เด็กซน
- เด็กสมาธิสั้น
- เด็กซน สมาธิสั้น
เด็กที่ซน สมาธิสั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กที่มีการปัญหาด้านการเรียนเสมอไป เด็กที่มีปัญหาแบบนี้ จำนวนไม่น้อย เป็นเด็กที่เรียนดีมากๆ มีผลการเรียนดี ไ่ม่มีปัญหา แต่ปัญหาพฤติกรรมที่ซน ไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนในห้องเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนเป็นแนววิชาการ มีจำนวนนักเรียนมากๆ ซึ่งเด็กๆต้องใช้เวลาส่วนมากในการเรียนในห้องเรียน ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหว ได้อย่างอิสระ ก็จะทำให้เด็ก "ป่วน" ในห้องเรียนได้ เพราะเบื่อหน่ายไม่สนุก และพลอยทำให้เด็กเสียสมาธิในการเรียน และทำให้การเรียนการสอนไม่ราบรื่น เด็กซนและสมาธิสั้นบางคน แม้จะนิ่งไม่ได้นาน หรือมีสมาธิในการฟังไม่ยาว แต่มีความจำดี ฟังหรือดูไม่นาน ก็สามารถเข้าใจได้ ทำให้เด็กเหล่านี้ อาจจะเป็นเด็กเรียนเก่งมากๆ มีอัจฉริยภาพในบางด้าน แต่โดยรวม ทำให้การเรียนการสอน ของเพื่อนนักเรียนและครูมีปัญหา หากเป็นมากๆ เด็กเหล่านี้ จึงต้อง รับประทานยา เพื่อให้สามารถอยู่นิ่งได้ ยาเหล่านี้ เป็นยาที่อาจจะมีผลข้างเคียงบ้าง เช่น ง่วงซึม แต่จะหมดฤทธิ์ เมื่อถึงเวลาที่กำหนด และสามารถขับออกจากร่างกายได้ทางปัสสาวะ และไม่มีการสะสมในระยะยาว
วิธีการแก้ปัญหาของเด็กซน สมาธิสั้นนั้น จะต้องทำร่วมกันหลายๆวิธี การใช้ยา ก็อาจจะมีการใช้ในกรณีที่เด็กไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ แต่สามารถเลิกได้ ไม่ต้องทานต่อเนื่อง หากเด็กสามารถปรับพฤติกรรมได้ ควบคุมตัวเองได้ดีขึ้นในอนาคต หลักๆในการแก้ปัญหาเด็กซน สมาธิสั้น คือ การเลือกโรงเรียนที่เหมาะสม และ การปรับพฤติกรรมทางบ้าน ซึ่งเป็นวิธีที่สำคัญที่สุด โรงเรียนที่เหมาะกับการดูแลและฝึกเด็กเหล่านี้ คือ โรงเรียนแนวบูรณาการ ซึ่งจะมีชั้นเรียนที่มีเด็กจำนวนไม่มาก และการเรียนการสอนเน้นให้เด็กเป็นอิสระ และเรียนรู้ด้วยการปฎิบัติ แต่หากเด็กมาเรียนในโรงเรียนแนววิชาการ วิธีการที่จะช่วยเด็กได้ดีที่สุด คือ การปรับพฤติกรรม และการดูแลที่บ้าน ซึ่งควรฝึกเด็กให้มีระเบียบวินัย กำจัดสิ่งเร้า เช่น การดูทีวี หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เนต ให้น้อยลง พ่อแม่และโรงเรียน ต้องให้ความร่วมมือกันในการปรับพฤติกรรมเด็ก หากเด็กได้รับการดูแลที่ถูกต้อง เด็กก็จะสามารถปรับพฤติกรรมให้สามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนๆในโรงเรียน ในสังคมได้เป็นปกติ มีศักยภาพ มีเด็กที่มีปัญหาเด็กซน สมาธิสั้นหลายคน สามารถเรียนแพทย์ เรียนวิศวกรรม เรียนในสาขาที่ยากๆได้ เพราะได้รับการดูแล ปรับพฤติกรรม และฝึกฝนมาอย่างถูกวิธี จึงสามารถพัฒนาได้เป็นปกติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น